top of page
DSC09974.jpg

โบราณสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญ

โบราณสถานและปูชนียวัตถุ ที่สำคัญของวัดเขมาภิรตาราม

บริเวณวัดเขมาภิรตาราม มีปูชนียวัตถุ และโบราณสถานหลายแห่ง ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม และสักการะบูชา ซึ่งประกอบไปด้วย

พระมหาเจดีย์ และพระเจดีย์ทั้ง ๔

พระมหาเจดีย์ และพระเจดีย์ทั้ง ๔

ในชั้นเดิม กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ได้ทรงสร้างเจดีย์ ๔ องค์ ประดิษฐานไว้ทั้ง ๔ มุม ของพระอุโบสถ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ วัดเขมาฯ ครั้งใหญ่ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาเจดีย์ขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ โดยถ่ายแบบศิลปะทรงระฆังคว่ำจากกรุงศรีอยุธยาและได้เริ่มก่อรากฐาน พระมหาเจดีย์ขนาดกว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๙๗ เมื่อก่อสร้างเสร็จได้ความสูงที่ ๑๕ วา หรือ ๓๐ เมตร  และได้ชะลอเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ ที่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนฯ ทรงสร้างไว้ มาอยู่ประจำมุมทั้ง ๔ ของเจดีย์องค์ใหญ่ และได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากคีรีบรรพต (ภูเขาทอง) มาบรรจุไว้ที่คอระฆัง

    ปริศนาธรรม เกี่ยวกับพระมหาเจดีย์ หากจะพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปจะพบว่าองค์พระมหาเจดีย์มีรูปแบบการก่อสร้างที่เฉพาะแบบจริงๆ ซึ่งพอจะไขปริศนารูปแบบการสร้างได้ดังนี้

  1. ฐานของพระมหาเจดีย์ มีลักษณะเป็นชั้น ๓ ชั้น เปรียบได้กับ พระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) หรือพระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

  2. ฐานของระฆังคว่ำ มีลักษณะ ๘ เหลี่ยม ๕ ชั้น เปรียบได้กับมรรคมีองค์ ๘ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) และเบญจขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

  3. ด้าน ๔ เหลี่ยมรอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปรียบได้กับ อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

  4. ปล่องไฉน ๒๐ ปล่อง (รวม ๔ หัวข้อธรรมข้างต้น)

  5. ภายในมีช่องทางออก ๘ ช่อง เปรียบได้กับ มรรคมีองค์ ๘

  6. ภายนอกมีช่องทางเข้า ๑๐ ช่อง เปรียบได้กับ กุศลกรรมบถ ๑๐ (กายกรรม ๓ เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม ๔ เว้นพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดคำหยาบ เว้นพูดเพ้อเจ้อ, มโนกรรม ๓ ไม่โลภ ไม่พยาบาท เห็นชอบตามคลองธรรม)

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

ในชั้นเดิมกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ในรัชกาลที่ ๒ มีพระราชศรัทธา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดรากใหม่ ก่อผนังขยายออกให้กว้างกว่าเดิม และถมพื้นภายใน  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นฤกษ์และทรงรับสั่งให้ช่างเข้าในกรม ก่อพระประธานองค์ใหม่สวมพระพุทธรูปองค์เก่า เพราะทรงเห็นว่าพระอุโบสถมีความกว้างขวางมากพระประธานองค์เก่ามีขนาดเล็กเกินไป ต่อจากนั้นได้มีรับสั่งให้ก่อกำแพงรอบพระอุโบสถ จนสำเร็จเรียบร้อยแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาทำมหกรรมฉลองและบำเพ็ญกุศล ในปีชวด สัมฤทธิศก ๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑) 

    ครั้นเมื่อปีกุล ตรีศก ศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ. ๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ บรมราชาภิเษกแล้วได้ทรงรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์วัดเขมาฯ โดยให้ขุดคูรอบวัด และให้ขรัวอินโข่ง ซึ่งเป็นช่างศิลป์ที่โด่งดังในสมัยนั้นไปวาดภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ และได้ทรงสร้างพระอสีติมหาสาวก (พระสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศ ทางด้านต่างๆ ๘๐ องค์) ล้อมพระประธาน เสร็จเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๗ 

    สำหรับส่วนของศิลปะจิตรกรรม ภายในพระอุโบสถจะประกอบไปด้วยจิตรกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทย จีน ฝรั่ง

ศิลปะไทย ได้แก่     

  • รูปเทวดาทวารบาลที่ประตู-หน้าต่าง

  • เทพชุมนุมถือดอกมณฑาทิพย์เครื่องประโคมดนตรีไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เสด็จดับขันธปรินิพพานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วด้านหลังพระอุโบสถ

  • ดอกเข็มในแจกันซึ่งแสดงถึงความเฉลียวฉลาดและหลักแหลม

ศิลปะจีน ได้แก่ แจกันจีนสีขาว มีอักษรภาษาจีนอ่านว่า “ซางฮี้” ซึ่งเป็นตัว มงคลคู่ แปลว่า มงคลอย่างยิ่ง

ศิลปะฝรั่ง ได้แก่ แจกัน มีลักษณะเป็นช่อชัยพฤกษ์

พัทธสีมา

พัทธสีมา

พัทธสีมาของวัดจะมีลักษณะเป็นใบคู่ ซึ่งจะมีเฉพาะพระอารามหลวงเท่านั้น สืบเนื่องจากในสมัยก่อนพระฝ่ายอรัญวาสีและพระฝ่ายคามวาสี จะไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน ทำให้เป็นที่ลำบากในคราวที่พระฝ่ายอรัญวาสีเดินทางเข้ามาในเมือง ในกาลต่อมาพระฝ่ายอรัญวาสีและฝ่ายคามวาสี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น ทำให้มีการทำสังฆกรรมร่วมกันบ้างบางโอกาส ดังนั้นเพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีมีความสบายใจในการทำสังฆกรรม จึงได้กำหนดให้มีใบสีมาคู่ เพื่อแสดงถึงการให้ทำสังฆกรรมร่วมกัน ของพระฝ่ายอรัญวาสีและพระคามวาสี

พระวิหารน้อย

พระวิหารน้อย

รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระวิหาร ๒ หลัง ไว้ที่มุมกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นที่เก็บพระพุทธรูป

พระตำหนักแดง

พระตำหนักแดง

พระตำหนักแดง เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นตำหนักหมู่ใหญ่ในวังหลวง ถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ หลังจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์สิ้นพระชนม์ ตำหนักแดงก็เป็นที่ประทับของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ผู้เป็นพระธิดา

 

ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนฯ ได้เสด็จออกไปประทับที่พระราชวังเดิมกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงโปรดให้รื้อตำหนักแดงไปปลูกถวายกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนฯ ที่พระราชวังเดิม หลังจากพระศรีสุริเยนฯ สวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงโปรดให้รื้อไปสร้างถวายเป็นกุฎีพระราชาคณะที่วัดโมฬีโลกยาราม

 

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี  ทรงโปรดให้ย้ายจากวัดโมฬีโลกฯ ไปปลูกเป็นกุฎีเจ้าอาวาสที่วัดเขมาภิรตาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนฯ

 

พระตำหนักแดงแม้จะรื้อแล้วสร้างใหม่ถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ยังสามารถอนุรักษ์ศิลปะให้อยู่ในรูปแบบเดิมได้เป็นอย่างดี ในสมัยของพระธรรมรัชมงคล (จับ อุคฺคเสโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขมาฯ กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ โดยรื้อแล้วสร้างใหม่ในที่เดิม ขนาดเท่าเดิมเพียงแต่ยกพื้นพระตำหนักให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันน้ำท่วม แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ เดิมทีกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาศย์ ทรงโปรดให้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๓๗๑ มีลักษณะเป็นไม้ ฝาผนังเป็นกระดาน ที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อแล้วสร้างใหม่แบบตึกโบราณ ไว้ด้านขวาหน้าพระอุโบสถ

พระที่นั่งมูลมณเฑียร

พระที่นั่งมูลมณเฑียร

พระที่นั่งมูลมณเฑียร เดิมทีเดียวปลูกเป็นตำหนักไม้ อยู่ในพระบรมมาราชวัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อและแก้ไขเป็นตึก ปลูกขึ้นใหม่ระหว่างพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ กับบริเวณพระพุทธนิเวศน์ในพระบรมมหาราชวัง

 

ครั้นถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปปลูกไว้ที่วัดเขมาฯ เพื่ออุทิศให้แก่พระราชบิดา โดยมีรับสั่งให้ทำลายรดน้ำ ลงรักปิดทองบานประตู หน้าต่าง เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี คือเกี่ยวกับชาวสวนทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด ต่อมาเมื่อมีโรงเรียนกลาโหมอุทิศ ทางวัดเขมาฯ จึงมอบให้ทางโรงเรียนกลาโหมฯ ใช้เป็นห้องสมุดของโรงเรียน และได้ทำการบูรณะครั้งล่าสุด แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๑

ศาลาจตุรมุข

ศาลาจตุรมุข

เป็นศาลา ๔ หน้า สถาปัตยกรรมไทย หน้าจั่ว หางหงส์ และใบระกา ปิดกระจกและลงรักปิดทอง ในคราวที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระพาสต้น ได้ใช้ศาลาแห่งนี้ประทับค้างแรมถึง ๒ คราว คือในปี พุทธศักราช ๒๔๔๗ และ ๒๔๕๐ โดยมีประบันทึกไว้ดังนี้

- การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๔๗  วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้กระบวนเรือปิกนิค

ล่องจากพระราชวังบางปะอิน ลงไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อเข้าเขตเมืองนนทบุรีในช่วงบ่ายแก่ๆ พระองค์ให้กระบวนล่องไปทางคลองอ้อมนนท์ ผ่านไปทางคลองบางกรวยตัดออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองบางกรวยหน้าวัดเขมาฯ ในเวลาเย็นและให้เรือพระที่นั่งจอดเทียบสะพานท่าน้ำหน้าวัด ทรงใช้ศาลาท่าน้ำ (ปัจจุบันคือศาลาจตุรมุข) เป็นท้องพระโรงสำหรับประทับแรม โดยไม่มีพลับพลาฝาเลื่อนแต่อย่างใด

- การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๐  วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๕๐ เวลา ๒๓.๐๐ น. ทรงลงเรือเสด็จพระราชดำเนินไปยังตำหนักแพวังหน้า ประทับเรือพระที่นั่งกลไฟ ชื่อชลยุทธ ล่องขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าเขตเมืองนนทบุรีถึงวัดเขมาฯ เวลา ๒๓.๓๐ น. ทรงให้จอดเรือและเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับที่ศาลาจตุรมุขริมแม่น้ำ เสวยเครื่องว่าง เวลา ๐๑.๐๐ น. เศษ เสด็จพระราชดำเนินเข้าที่พระบรรทมในเรือพระที่นั่ง เช้าวันที่ ๒๘ เวลา ๐๘.๐๐ น. เศษ เสด็จออกจากวัดเขมาฯ โดยเรือพระที่นั่งชื่อว่า “เรือลบแหล่งรัตน”

กุฎิทรงไทย

กุฎิทรงไทย

ศาลาดิน

ศาลาดิน

แต่เดิมมีศาลานอกแนวกำแพงหน้าพระอุโบสถ เรียกว่า “ศาลาดิน” ใช้เป็นที่เรียนหนังสือชั้นเด็กเล็ก สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ๓ สมัย ใช้เรียน พอชั้นเด็กโต ก็ไปเรียนพระที่นั่งมูลมณเฑียร ต่อมากรมศิลปากรรื้อเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ผังบริเวณหน้าพระอุโบสถเดิมทางซ้ายเป็นหอระฆังเก่าหน้ากำแพงพระอุโบสถมีศาลาดินอยู่ข้างซ้าย และขวาประตูกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถ ปัจจุบัน ศาลาดินรื้อออกแล้ว

พระประธานในพระอุโบสถ

พระประธานในพระอุโบสถ

ด้วยเหตุที่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ได้สร้างพระอุโบสถมีขนาดใหญ่ครอบพระอุโบสถเดิม ทำให้พระประธานองค์เดิมมีขนาดเล็ก ดูไม่ได้สัดส่วนกับพระอุโบสถใหม่ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ จึงรับสั่งให้ช่างปั้นพระประธานองค์ที่เห็นในปัจจุบันครอบองค์เก่าที่เป็นทองคำใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ซึ่งมีขนาด พระเพลา ๒.๙๐ เมตร สูงตลอดพระรัศมี ๔ เมตร

พระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ

ด้วยเหตุที่กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ได้สร้างพระอุโบสถมีขนาดใหญ่ครอบพระอุโบสถเดิม ทำให้พระประธานองค์เดิมมีขนาดเล็ก ดูไม่ได้สัดส่วนกับพระอุโบสถใหม่ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ จึงรับสั่งให้ช่างปั้นพระประธานองค์ที่เห็นในปัจจุบันครอบองค์เก่าที่เป็นทองคำใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ซึ่งมีขนาด พระเพลา ๒.๙๐ เมตร สูงตลอดพระรัศมี ๔ เมตร

พระศรีอาริยเมตไตร (พระศรีอาริย์)

พระศรีอาริยเมตไตร (พระศรีอาริย์)

เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้ช่างปั้นไว้เพื่อแก้เคล็ดความเชื่อคติโบราณ ที่ไม่นิยมสร้างพระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก พระองค์จึงให้ช่างปั้นพระศรีอาริย์ ประดิษฐานไว้ด้านหลัง นอกพระอุโบสถโดยมีพระพักตร์หันไปทางทิศตะวันออก​

พระอินทร์แปลง

พระอินทร์แปลง

เป็นพระพุทธรูปโลหะสัมริดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญมาจากพระราชวังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาประดิษฐานเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๑ มีขนาดพระเพลา ๗๔ เซนติเมตร สูงตลอดพระรัศมี ๑๐๙ เซนติเมตร

พระนิรันตราย

พระนิรันตราย

เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำรัชกาลที่ ๔  มีการค้นพบเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๙ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า กำนันอิน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เมืองปราจีนบุรี ท่านฝันว่าจับช้างเผือกได้ ต่อมาไม่นาน ท่านกับบุตรชายชื่อนายยัง เดินทางเข้าป่าเพื่อขุดมันนกในบริเวณชายป่า ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณ ๓ เส้น และได้ขุดพบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก มีน้ำหนัดถึง ๘ ตำลึง ท่านจึงนำไปมอบให้ พระยาเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พระยาเกรียงไกรฯ จึงพากำนันอินและนายยังบุตรชาย เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลถวายพระพุทธรูปทองคำที่ขุดพบ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดฯ ว่า

 

“สองพ่อลูกมีความกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย” จึงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินตราให้เป็นรางวัล และโปรดฯ ให้เจ้าพนักงานอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำนั้น ไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตรคู่กับพระกริ่งทองคำน้อย ในปี พุทธศักราช ๒๔๐๓ มีคนร้ายลักลอบเข้าหอพระเสถียรธรรมปริตร ลักเอาพระกริ่งทองคำน้อยไป เป็นที่น่าแปลกใจที่กลับไม่เอาพระพุทธรูปทองคำที่ประดิษฐานคู่กันไปด้วย ทั้งที่องค์พระมีขนาดเขื่องกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า “พระพุทธรูปที่กำนันอินทูลเกล้าฯ ถวายนั้น เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่งทองคำน้อย ควรที่คนร้ายจะลักองค์ใหญ่ไป แต่นี่กลับละไว้ เช่นเดียวกับที่ผู้ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่อมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง” พระองค์จึงทรงถวายพระนามว่า “พระนิรันตราย” 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าพนักงานทำการหล่อพระพุทธรูปนั่ง ปางขัดสมาธิเพชร เนื้อทองคำ ขนาดพระเพลา ๕ นิ้วครึ่ง สูงตลอดพระรัศมี ๓๑ เซนติเมตร เพื่อสวมพระนิรันตรายไว้อีกชั้นหนึ่ง  และโปรดฯ ให้หล่อเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์อีกองค์หนึ่งไว้คู่กัน และต่อมาเมื่อพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต มีพระอารามมากขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ พระองค์จึงโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันเป็นเนื้อทองเหลือง โดยมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ มีอักขระขอมจำหลักลงในวงกลีบบัว เบื้องหน้า ๙ เบื้องหลัง ๙ ยอดเรือนแก้วเป็นรูปพระมหามงกุฎ จำนวน ๑๘ องค์ เท่ากับจำนวนปีที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติ

 

เพื่อจะทรงพระราชทานเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระอารามต่างๆ แต่ยังไม่ทันได้พระราชทาน พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน มาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายช่างทำเป็นกะไหล่ทองคำทั้ง ๑๘ องค์ หลังจากเสร็จแล้วก็ได้พระราชทานไปตามวัดต่างๆ ที่สังกัดธรรมยุต ๑๘ วัด ได้แก่ วัดราชาฯ วัดบวรนิเวศฯ วัดเทพศิรินฯ วัดราชประดิษฐฯ วัดราชบพิธฯ วัดบรมนิวาส วัดมกุฏฯ วัดโสมนัสฯ วัดบุรณศิริฯ วัดราชผาฯ วัดปทุมวนาราม วัดสัมพันธวงศ์ วัดบุปผาฯ วัดเครือวัลย์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ วัดเสนาสนาราม วัดยุคันธราวาส และวัดเขมาภิรตาราม ตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก สำหรับวัดเขมาฯ นั้นได้รับพระราชทานองค์ที่สลักเลข ๕ ไว้ที่ฐานรององค์พระ

พระอสีติมหาสาวก

พระอสีติมหาสาวก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพระอุโบสถวัดเขมาฯ มีขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานอยู่องค์เดียวและยังพื้นที่เหลืออีกพอที่จะสร้างพระอสีติมหาสาวกได้ จึงมีรับสั่งให้ช่างปั้นพระอสีติฯ นั่งล้อมรอบพระประธาน แต่ละองค์จะสลักปรากฏอยู่ที่ฐานอาสนะ ซึ่งในประเทศไทยจะมีพระอสีติฯ อยู่แค่ ๒ วัดเท่านั้น คือวัดสุทัศนเทพวนาราม และวัดเขมาภิรตาราม

ติดต่อวัดเขมาภิรตาราม

Untitled design-4.png

เลขที่ 45 ซอยพิบูลสงคราม 3 ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

ติดต่อสอบถาม (Tel)  
081-2595129 ไวยาวัจกร
089-8237340 สำนักงานวัด

02-526-4813 สำนักงานฌาปนสถาน
วันเปิดทำการ  เปิดทำการทุกวัน
Facebook Page  วัดเขมาภิรตาราม

ส่งข้อความสำเร็จ

©2023 by Wat Khema Phirataram Ratchaworawihan วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร . Powered by Dryv Technology

bottom of page